วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เรื่องที่เขียนยากที่สุด


    บทความ ในเว็บกล้วยไม้เมืองร้อน ที่ดูเหมือนจะยากที่สุดดูเหมือนจะเป็นเรื่องแวนด้า สามปอย ซึ่งในบทความนี้มีเรื่องของสามปอยหลวงและสามปอยขุนตานที่เก็บข้อมูลมาตลอดเกือบสองปี ในวันแรก ๆ ที่ผมได้รู้จักกับสามปอยผมรู้สึกเฉย ๆ กับกล้วยไม้พันธุ์นี้มาก ไม่คิดว่ามันสวยและไม่คิดว่ามันดูดีอะไรเลย แค่ดอกไม้สีเหลือง ๆ ดอกหนึ่ง แต่พอได้ทำความรู้จักกับกล้วยไม้ชนิดนี้มากขึ้น ก็พบกับความอัศจรรย์ที่ไม่คาดคิด คุณชิเนนทรได้เล่าเรื่องราวของตัวเองสมัยเด็ก ที่เก็บสะสมสามปอยขุนตานให้ผมฟัง มันทำให้ผมรู้สึกว่ากล้วยไม้ชนิดนี้มีคุณค่าขึ้นมา หลังจากนั้นก็เริ่มหาข้อมูลว่า สามปอยขุนตานมันพิเศษอย่างไร น่าตาที่แท้จริงมันเป็นอย่างไร ผมเคยสั่งซื้อสามปอย จากอินเตอร์เนตมา 1 ต้น ดอกของมันสีเหลืองเหมือนกับกระดาษแก้วแถมปากก็ยังเหลืองเข้มจัดตอนนั้นคิดว่าได้ของดีมาแล้ว จึงเด็ดดอกไปให้คุณชิเนนทรดู ท่านก็กล่าวกับผมว่า "นี่มันลูกผสมนี่" มันทำให้ผมยิ่งอยากรู้ว่า ของจริงเป็นอย่างไร เริ่มต้นจากการตั้งคำถาม เดือนละครั้ง จุดประสงค์ที่ไม่ยิงตูมเดียวคือ ผมอยากชั่งใจว่า เซียนผู้นี้ พูดจริง หรือ กุุขึ้นมาว่าสามปอยต้องเป็นแบบที่ตนกล่าว เพื่อให้สามปอยของตัวเองเป็นมาตรฐานน้ำหนักว่า สามปอยต้องหน้าตาแบบนี้

ผลคือ ตลอดประมาณ ๕-๖ เดือนที่ผมยิงคำถามซ้ำสลับเดือนไปมาว่า สามปอยหลวงเป็นยังไง สามปอยขุนตานเป็นยังไง หน้าตาเป็นยังไง ในป่าทางเหนือมีไหม เจอที่ไหน ลักษณะเป็นไง ท่านตอบตรงทุกครั้งไม่มีครั้งไหนที่ผิดเพี้ยนเลย และระหว่างนี้ผมเองก็ได้เดินทางไปยังสวนคุณลุงมานะ ที่รู้จักสามปอยดี และยิงคำถามเช่นเดียวกันห่างกัน ๓ เดือนครั้ง ท่านก็ยังตอบเช่นเดิม แถมตรงกับที่คุณชิเนนทร
กล่าว ผมจึงนั่งเตรียมข้อมูลประมาณ ๒ เดือนด้วยการประสานกับคุณวรยุทธให้เตรียมข้อมูลด้านลายลักอักษร และผมท่องเนตครับ สบายมั้ยละ ในโลกอินเตอร์เนต สามปอยหลวงและสามปอยขุนตานที่ผมได้ข้อมูลมารู้สึกจะสับสนปนเปไปหน่อย คงมีไม่กีคนที่กล้าการันตีย์ ผมเองก็ไม่กล้า คนที่จะการันตีเรื่องตำนานสามปอยหลวงได้ก็ต้องให้ตำนานเป็นคนกล่าวขานเอง

และสามปอยก็เป็นกล้วยไม้ถิ่นเหนือคงไม่มีใครรู้ลึกไปกว่าเจ้าถิ่นแน่ คิดได้แบบนั้นก็หนีไม่พ้นคนสองคนที่ผมวิ่งไปวิ่งมาถามสู่นี่แหละ หลังจากข้อมูลครบก็บุกบ้านพร้อมปากกา จดแหลกทุกคำพูดครับ รอบแรกบรรลุด้วยดี แต่พอข้อมูลขาด ก็ต้องวิ่งไปซ่อมเพราะผมคิดว่า งานนี้งานใหญ่อยากให้ข้อมูลแน่นที่สุดตรงที่สุดชัวที่สุด ประกอบกับหนังสืออ้างอิง ที่กองท่วมหัวได้ ไม่รู้คุณวรยุทธไปหามาจากไหนเยอะแยะทั้งฝรั่งไทยและเยอรมัน ให้ตาย งานนี้ ไม่หมูเลย หนังสือสิบกว่าเล่ม ผมพยายามคัดแต่เล่มเก่า ๆ เพราะสามปอยหลวง มีแต่คนเก่าแก่เท่านั้นที่ดูออก หนังสือเล่มใหม่ ๆ ยึดหลักชื่อวิทยาศาสตร์จึงให้ความสำคัญสามปอยหลวงเท่ากับสามปอยขุนตาน ก็กว่าจะหยิบคัดออกมาจากหนังสือแต่ละเล่มได้ก็ตาลายน่าดูครับ หลังจากได้ข้อมูลดิบมาครบแล้ว ก็จัดการบรรเลงเขียนบทความขึ้น ข้อมูลยาวเป็นลี้ แต่ต้องเขียนให้ได้กระดาษ A4 ไม่งั้นคนท่องเว็บมาอ่านช็อคตายขี้เกียจอ่านกันพอดี นั่งเขียนอยู่ประมาณอาทิตย์กว่า แก้ไปประมาณ ๗ ครั้ง เอาแต่เนื้อ ๆ ในที่สุดก็ออกมาเป็นเรื่องเป็นราวพร้อมส่งลงโลกไซเบอร์ ที่เหลือก็แล้วแต่คนอ่านละครับว่าจะเชื่อหรือเปล่า

จริง ๆ มีอีกท่านที่อยากคุยด้วยคือ เสวิสูตร เพราะในโลกอินเตอร์เนตมีแต่คนกล่าวขานท่านเรื่องสามปอย ถ้าได้คุยด้วยอีกคนคงได้ข้อมูลที่แน่นขึ้นไปอีก เสียดายจริง ๆ

อ้อ ลืมไป ในระหว่างที่วิ่งไปวิ่งมาตลอดปีกว่า ภาพสามปอยเป็นอะไรที่หายากชะมัดเลยครับ กว่าจะได้แต่ละต้น โดยเฉพาะสามปอยหลวง ยากจริง ๆ เพราะแต่ละแหล่งที่รู้ว่ามีสามปอยหลวงมักมีกันเพียง ๑-๒ ต้น เก่งสุดก็ ๕ ต้นที่สวนชิเนนทร แต่ถ่ายภาพแค่ที่เดียวมันคงไม่หนักแน่นพอ เลยต้องวิ่งไปถ่ายหลาย ๆ ที่ ทั้งร้อนทั้งเหนื่อยเลย แต่ก็คุ้มค่าครับ ได้เห็นสามปอยหลวงของจริงแล้วรู้สึกว่าอย่างกับค้นพบสมบัติเลยครับ และดีใจที่มันไม่ใช่แค่ตำนาน สามปอยหลวงยังมีตัวตนอยู่นั่นเองครับ

ภาพบน สามปอยหลวง ต้นชิเนนทร ชนิดไม่มีลายสมุก กล้องฟิล์ม จะเห็นว่าสีมันชัดกว่ากล้องดิจิตอลเยอะครับ ถ้าดูในเว็บกล้วยไม้เมืองร้อน สีจะออกเหลืองอ่อน ๆ แต่ถ้าเป็นตัวนี้จะเข้มกว่า ดูสมจริงกว่าครับ

วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

คุณค่าของกล้วยไม้


มีหลายครั้งที่ผมมักสงสัยว่าทำไมราคากล้วยไม้ขวดถึงตั้งกันสูงนัก ไม่กลัวขายไม่ออกเหรอ คุณชิเนนทรเจ้าของไม้ขวดสามปอยท่านก็ตอบผมว่า "กล้วยไม้ขายต้นสิบบาทก็ได้ แต่ซื้อไปแล้วจะเห็นคุณค่ามันเหรอ" ผมหยุดงงสักพักท่านก็พูดต่อ "นี่นะ กล้วยไม้ที่เห็นทุกวันนี้นะ กว่าจะออกมาได้แบบนี้ ตั้งแต่เฮียสิบขวบจนตอนนี้ มันไม่ใช่ผสมแล้วจะสวยเลย มันต้องใช้เวลานาน คัดแล้วคัดอีก พิถีพิถันกว่าจะได้มาแต่ละต้นไม่ได้ง่ายเหมือนตอนนี้ เฮียอยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของมัน เห็นคุณค่าว่าที่กว่าจะมาเป็นกล้วยไม้ไทยที่เห็นตอนนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย หากขายต้นละสิบบาท คนซื้อไปถ้าเกิดมันเริ่มเป็นอะไรก็คงทิ้งขว้างง่าย ๆ เพราะว่ามันถูกยังไงซะก็หาใหม่ได้ แต่ถ้าเป็นต้นละ สี่ร้อยห้าร้อย การจะปล่อยตายสักต้นก็ต้องลำบากใจคนเลี้ยงจะต้องขวนขวายหาวิธีที่จะทำให้กล้วยไม้ของเขาอยู่รอด พอกล้วยไม้ที่เขาเลี้ยงผ่านวิกฤตินั้นมาได้ เขาก็จะได้รับประสบการณ์การเลี้ยงและภูมิใจที่ไม่ปล่อยให้มันตาย คนก็จะพัฒนากล้วยไม้ก็จะพัฒนา ที่สำคัญ เฮียไม่อยากให้ใครก็ตามได้ลูก ๆ ของเฮียไปแล้วเลี้ยงทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ เฮียอยากให้ลูก ๆ ของเฮียเป็นที่รักของทุก ๆ คนเหมือนอย่างที่เฮียรัก ถ้าเฮียขายลูกต้นละ สิบยี่สิบ ลูกของเฮียคงจะถูกปล่อยละเลยแน่ ๆ ถึงจะขายไม่ออกก็ยินดี ขอแค่มีคนที่จะได้ลูก ๆ ของเฮียไปนั้น รักและเข้าใจเขาก็พอแล้ว" ตามที่คุณชิเนนทรเอ่ย ผมเองก็ชักจะเริ่มเห็นด้วยแล้วกับเรื่องราคาที่สมเหตุสมผล ปัจจุบันราคากล้วยไม้ถูกลง อาจจะเป็นเรื่องดีของนักเลี้ยงหลาย ๆ คน แต่ก็ไม่รู้ว่า ราคาถูกจะทำให้เห็นค่าของกล้วยไม้ที่ซื้อไปหรือเปล่า ? ถ้าลองนึกย้อนดู ถ้าไม่มีนักเล่นกล้วยไม้รุ่นแรก ๆ เราก็คงไม่มีกล้วยไม้สวย ๆ ไว้เลี้ยงกัน...



หลังจากรับฟังความเห็นของคุณชิเนนทรไป ผมก็นึกขึ้นมาได้ว่าครั้งหนึ่งผมเองก็เคยได้ยินคำกล่าวคล้ายกันนี้มาก่อน ในสมัยยังเป็นเด็กมัธยม ตอนนั้นผมเองก็เล่นบอร์ดกล้วยไม้ที่ใคร ๆ ก็รู้จัก ใช่แล้วครับ บอร์ดคุณเฟินโคราช ในตอนนั้นคุณเฟินได้โพสภาพกล้วยไม้หลากหลายสวยงาม มีสายหลวงลาวต้นหนึ่ง ช่างสวยจริง ๆ ด้วยความไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เพราะคิดว่าแบ่งลำเล็ก ๆ ก็คง สามสี่สิบบาทมั่ง ผมจึงเมลไปสอบถามคุณเฟินดู คุณเฟินเมลตอบกลับมาว่า หน่อเล็กนั้นหนึ่งพันบาท มันทำให้ผมรู้สึกตกใจมาก ผมจึงเมลกลับไปสอบถามอีกครั้งเพราะคิดว่าคุณเฟินคงเติมศูนย์มาผิดแน่เลย แต่ก็ไม่ผิดครับคุณเฟินเขียนเมลตอบกลับเป็นคำกล่าวที่คล้ายคลึงกับที่คุณชิเนนทรได้พูดกับผม กล้วยไม้มีช่วงเวลาที่ต้องพัฒนาของมัน คุณค่าไม่ได้อยู่ที่ขนาด แต่อยู่ที่ใจ ว่าเรารักมันแค่ไหน !! แล้วคุณละ รักกล้วยไม้มากแค่ไหนกันครับ ?

วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

หลังภาพถ่าย

กว่าจะเป็นภาพหนึ่งภาพ ไม่ใช่สิ่งง่ายดายสักเท่าไหร่ ทุก ๆ ครั้งที่มีเสียงกริ๊งกร๊างดังขึ้น ผมต้องสะพายกล้องตัวเก่งแนบตัวขับมอเตอร์ไซค์อาบแดดไปราว ๆ ๒-๓ กิโล เพื่อไปถ่ายภาพดอกไม้ใส่คลังสต๊อคให้กับเว็บกล้วยไม้เมืองร้อนแถมช่วงเวลาที่ไปก็ยังเป็นช่วงบ่ายตะวันอยู่กลางหัวเลยทีเดียว ในสวนกล้วยไม้จึงไม่ได้เย็นฉ่ำชื่นใจสักเท่าไหร่นักหรอกครับ ซาแรนที่พลางแสงถึงจะให้ร่มเงาได้บ้าง แต่มันก็ยังร้อนอยู่ดี แต่มันก็สนุกดีเมื่อได้เห็นดอกไม้หลากหลายสีสันบานอยู่รอบตัว ลองจิตตนาการดูละกันครับ ประมาณได้ว่า หันซ้ายสีชมพู หันขวาสีเหลือง อะไรทำนองนั้น ไม่บ่อยนักที่จะได้เห็นกล้วยไม้หลากหลายพันธุ์บานเต็มไปหมด แต่ที่บาน ๆ อยู่นี่แหละ งานผมเลย

ก่อนอื่น ก็เริ่มจากต้นที่อยู่ใกล้ ๆ ตัว มองซ้ายบ้างตะแคงบ้าง เพื่อให้ได้รูปดอกไม้อย่างที่ใจคิด แต่บางครั้งแดดมันก็ร้อนเหลือทน ผมกดไม่กี่แชะก็ขอวิ่งเข้าร่มแล้ว บางครั้งพอมาเปิดดูในคอมแล้วก็มักจะทำให้หวนคิดว่า เห้อ น่าจะถ่ายซูมอีกนิด น่าจะกว้างอีกหน่อย รูปดอกไม้แค่ดอกเดียวอาจต้องกดชัตเตอร์อยู่อย่างนั้นประมาณ ๑๐-๒๐ ครั้ง แน่นอนว่า รูปกล้วยไม้ต้นเดียว มีถึง ๑๐ กว่าภาพ บางทีคัดไปคัดมาก็เหลือเพียง ๒-๓ ภาพเท่านั้นเอง แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้าเจอกับพันธุ์ประหลาดหน่อย หายากละก็ ผมจะนิ่งกับมันไปมากกว่าครึ่งชั่วโมงเลยทีเดียว นี่ก็เพราะว่าอยากเน้นให้ออกมาดูดีเหมือนภาพที่เห็นในอินเตอร์เนต ซึ่งพยายามเท่าไหร่ก็ไม่ได้เท่าเค้าสักที ฮะฮะ

คงจะดีกว่านี้ถ้าได้ภาพตอนเช้า ๆ แสงรำไรสีทองสวย ๆ ภาพคงจะออกมาสดใสมากขึ้น ส่วนใหญ่ช่วงเวลาที่ถ่ายมักจะเที่ยงเป็นต้นไปถึงเย็นเสียทุกที เลยไม่เคยมีภาพกล้วยไม้ยามเช้ากับเขาเลย หลังจากนี้ก็คงพยายามถ่ายภาพให้ดีขึ้นครับ !



วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Orchid fever ทักทายวันแรกเปิดบล็อค

บล็อควันแรก สวัสดีทักทายครับ เว็บบล็อคนี้สร้างขึ้นเล่าเรื่องราวและเก็บภาพกล้วยไม้และดอกไม้สวย ๆ เล่าสู่กันฟัง ออคิดฟีเวอร์ แปลตรง ๆ ก็คงแปลว่าไข้กล้วยไม้ แต่ถ้าเป็นศัพท์ที่พอเข้าใจกันคงต้องเขียนว่า บ้ากล้วยไม้ ซะละมั่ง ส่วนตัวผมคิดว่ากล้วยไม้เป็นดอกไม้ที่มีสีสันและรูปทรงดอกแปลกประหลาดไม่ค่อยเหมือนดอกไม้ทั่วไป หากสีหวานก็หวานซะหยดย้อย หากสีสดก็แสบทรวงเจ็บในอย่างสายแสด ที่สำคัญในโลกนี้มีพืชไม่กี่ชนิดที่มีดอกเป็นสีม่วง กล้วยไม้ถือได้ว่าเป็นพืชที่มีวิวัฒนาการสูงส่งอย่างที่เล่าลือ เพราะมีสีสันของดอกเรียกได้ว่าครบรสจริงๆความประทับใจแรกพบกับกล้วยไม้ สำหรับผมคงมาจากสีสันของพวกเขานี่ละครับ สีสันที่มากมายทำให้มองดูแล้วเพลินตา บางคนอ่าจจะชอบที่ลักษณะของเขาด้วยที่มีน่าตาแปลกแตกต่างไปจากพันธุ์ไม้อื่น เช่นว่าไม่ต้องใช้ดินปลูกเป็นต้น ต้นในภาพแรกเขาเรียกว่าสายม่วง ต้นนี้สีดอกเป็นสีม่วงเรื่อ ๆ อ่อน ๆ ออกไปทางบานเย็นชมพู ตอนเห็นครั้งแรกที่มีดอกเดี่ยว ๆ ผมก็ว่าเล็ก ไม่สวยนักหรอก แต่พอเห็นต้นที่โตแล้วก็มีดอกพรั่งพลูสวยงามจริง ๆ แล้วยังมีสีหวานออกโทนอุ่นอีกด้วย ยามต้องแสงเย็นแล้วก็ช่างดูอบอุ่น อ่านมาถึงตรงนี้ผมคงดูเป็นคนอารมณ์ศิลน่าดู เพ้อซะไกลเลย
ที่สวน ออคิดทรอปิคอล หรือ สวนกล้วยไม้เมืองร้อน ผมมักจะเป็นคนไปถ่ายภาพให้บ่อย ๆ ภาพที่เห็นในบล็อคนี้บางภาพก็อาจจะเป็นภาพกล้วยไม้เหมือน ๆ ใน ก็อย่าตกใจครับ ไม่มีใครก้อปใคร ภาพมาจากคลังที่เดียวกัน แต่ต้นฉบับอยู่ที่ผมเท่านั้นเอง ยังไงก็ ขอฝากบล็อคนี้ไว้กับเพื่อน ๆ ที่ชอบกล้วยไม้และรักการถ่ายภาพด้วยนะครับ